วัดหลวงพ่อบ้านแหลม
หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปโลหะศิลปะ แบบสุโขทัย สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สูงประมาณ 167 เซนติเมตร เป็นพระปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลือง ข้อพระกร 2 ข้าง ถอดออกได้ มีประวัติกล่าวว่า หลวงพ่อบ้านแหลมนั้นเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการค้นพบในลำน้ำแม่กลอง ดังตำนานเก่าเล่าว่าชาวประมงได้ลากอวนพบพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ซึ่งได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดเก่าแก่ในเมืองแม่กลองที่ชื่อว่าวัดศรีจำปา ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม ทำให้ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหลวงพ่อบ้านแหลมเรื่อยมา ขณะที่อีกองค์หนึ่งนั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งซึ่งชาวประมงได้นำกลับไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี บางกระแสกล่าวไว้ว่า การค้นพบหลวงพ่อนั้นเกี่ยวกับตำนานของห้าพระพุทธรูปพี่น้องที่ลอยน้ำมาพร้อมกันจากเมืองเหนือ คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโตวัดบางพลี หลวงพ่อวัดเขาตะเครา และหลวงพ่อวัดไร่ขิง ซึ่งชาวบ้านริมฝั่งน้ำที่พบเห็นและศรัทธาได้อัญเชิญไปประดิษฐานในแต่ละวัดตามท้องถิ่นของตนเพื่อกราบไหว้บูชาสืบไป
กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นอย่างมาก และเสด็จมานมัสการพร้อมทั้งได้พระราชทานผ้าดิ้นทองแก่หลวงพ่อจำนวนสองผืน ซึ่งทางวัดจะนำมาประดับที่องค์หลวงพ่อในวันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ วันทอดกฐินพระราชทาน สำหรับบาตรแก้วสีน้ำเงินของหลวงพ่อที่ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดชได้ถวายหลวงพ่อไว้เป็นพุทธบูชา เนื่องจากบาตรเดิมนั้นได้สูญหายไปในทะเลตั้งแต่คราวที่ชาวประมงได้พบหลวงพ่อในอ่าวแม่กลอง
ต่อมาวัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” เปิดให้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6.00-17.00 น. นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดเพชรสมุทรยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ จัดแสดงพระพุทธรูป และพระเครื่องสมัยต่าง ๆ โบราณวัตถุเครื่องลายคราม และธรรมมาสน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยา ปกติไม่เปิดให้เข้าชม ต้องติดต่อเจ้าอาวาสก่อนล่วงหน้า
ความเชื่อและวิธีการบูชา เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะปิดทองหลวงพ่อบ้านแหลม แล้วจะช่วยเสริมอำนาจบารมีแก่ชีวิต บังเกิดแต่ความเป็นสิริมงคลสืบไป หากใครอธิษฐานของพรหลวงพ่อไว้ในเรื่องใดก็มักจะได้สมความปรารถนาและมักจะกลับมาแก้บนหลวงพ่อด้วยละครรำ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ท่านโปรดปราน
งานปิดทองหลวงพ่อบ้านแหลม จะจัดขึ้นไปช่วงเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปีซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยและชาวรามัญ งานสารทเดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) และช่วงเทศกาลตรุษจีนโดยมีครั้งละประมาณ 7 วัน